Skip to content

วันที่โพสต์

21 ธ.ค. 2023

ประเภทบทความ

งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 : เสวนา “การออกกำลังใจ … ใครก็ทำได้”

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) พร้อมทั้งภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ การส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิต “การออกกำลังใจ … ใครก็ทำได้” 

วงเสวนานี้เป็นการพูดคุยเรื่องสุขภาวะทางจิตในบริบทสังคมที่แตกต่างกัน ได้แก่ สังคม องค์กร เยาวชน และชุมชน โดยมีวิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่  ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, ชูไชย นิจไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิแพธทูเฮลท์, อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต และกันตพร ขจรเสรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Mindventure โดยมีนรินทร ชฎาภัทรวรโชติ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต และ Miss Thailand World 2019 ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ กล่าวว่า ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายต่างก็มีความสำคัญ แต่เรามักจะเพิกเฉยและละเลยในเรื่องสุขภาพจิต เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ คนจะนึกถึงสุขภาพจิตอีกที เมื่อถึงเส้นของปัญหาแล้ว ซึ่งต่างจากสุขภาพกายที่เห็นได้ชัดกว่า ทุกวันนี้มีการพูดถึงการดูแลสุขภาพจิต แต่อยู่ในกลุ่มไหนและกระจายครอบคลุมทั่วถึงทุกคนในสังคมแล้วหรือยัง จากการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ในพื้นที่ พบว่า คำว่าสุขภาพจิตยังเป็นคำที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกในสังคมไทยอยู่ 

ปลายทางที่สุดที่จะเป็นตัวชี้วัดปัญหาสุขภาพจิต คือ การฆ่าตัวตาย ตอนนี้สถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีงานวิจัยจากจุฬาฯ ที่สัมภาษณ์วัยรุ่นที่อยู่ในสภาวะวิกฤตทางอารมณ์ (Emotional Crisis) หรือไม่สามารถใช้ชีวิตสภาวะแบบเดิมได้ โดยมีตัวกระตุ้น คือ อย่างแรก คือ เรื่องการเรียนซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การทำให้คนเขารักเสียใจ ต่อมาเรื่องการเงินและสภาพเศรษฐกิจ และสุดท้ายเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนหรือคนรักที่ถูกแยกจาก ซึ่งทำให้การสนับสนุนทางจิตใจ (Support System) ที่เคยได้รับนั้นหายไป

จากงานวิจัยพิสูจน์ว่าการป้องกัน (Prevention) นั้นช่วยได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มบริการปฐมภูมิ การเปลี่ยนมุมมองในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตที่ไม่ใช่แค่ต้องมีปัญหาก่อนแล้วถึงจะใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขผู้เข้ารับบริการสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ดีที่มีมากขึ้นในการที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิต เพราะฉะนั้นในเรื่องความรุนแรงของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น พร้อมทั้งการรับบริการที่มากขึ้น ปัญหาที่มันรุมเร้าจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงระดับการเข้าถึงความช่วยเหลือล้วนเป็นตัวชี้วัดถึงปัญหาสุขภาพจิตในตอนนี้ 

จากการถอดบทเรียนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยเหลือผู้คนได้จริง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลใจ แต่ปัจจุบันการเข้าถึงบริการสามารถเข้าถึงแค่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น การมีนโยบายลดช่องว่างและทำให้ทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการบริการนี้ได้จริง ๆ จะช่วยเปลี่ยนภาพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในตอนนี้ทุกภาคส่วนกำลังพยายามทำอยู่

ด้านอาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช กล่าวว่า สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เราอาจให้คำนิยามง่าย ๆ ว่าเรามีความสุขกับชีวิต มีความพอใจกับสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน การมีอารมณ์ทางบวก และมีกำลังใจมากน้อยขนาดไหน ซึ่งเป็นการอธิบายความรู้สึกของเราที่มีต่อชีวิตหรือสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน

พอพูดถึงสุขภาพจิตในที่ทำงาน คำที่ทุกคนนึกถึง คือ ความเครียด การทำงานมาพร้อมกับความเครียดที่สะสมอยู่ทุกวัน จนเกิดความทุกข์ทรมานในการทำงาน ถ้าสะสมมาก ๆ จะนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ จากการสำรวจพนักงานในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ตื่นมาก็เหนื่อยแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ทำงานก็รู้สึกเหนื่อยราวกับทำงานมาทั้งวัน 

ถ้ามองในเรื่องช่วงวัย Generation Z ที่อยู่ระหว่างอายุ 21-26 ปีที่เป็นวัย First Jobber จะมีความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์และรู้สึกหมดไฟสูงกว่าช่วงวัยอื่น ๆ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ไม่เห็นถึงศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้ในเพศหญิงกับกลุ่ม LGBTQ+ มีภาวะความเครียดและเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์สูงกว่าเพศชาย ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าองค์กรมีนโยบายที่สนับสนุนพนักงานเพศหญิงให้ทำงานอย่างยืดหยุ่นเพียงพอหรือไม่ เพื่อให้สามารถจัดการกับความรับผิดชอบต่าง ๆ ในชีวิตของเขาได้ 

นโยบายขององค์กรมุ่งเน้นไปที่เรื่องของตัวเลขและผลลัพธ์ โดยไม่สนใจจิตใจคนทำงาน จากการสำรสจสาเหตุความเครียดในการทำงาน คือ หัวหน้า การพัฒนาภาวะผู้นำของหัวหน้าให้สามารถการดูแลใจคนในทีมได้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมถึงองค์กรต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพจิตของคนทำงาน เช่น การลดแรงกดดันให้สามารถติดต่อได้ตลอดเวลาได้ คือ การให้สิทธิในการตัดการสื่อสารหลังเวลางาน (The right to disconnect) การมีความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน และการเข้าถึงการรับบริการทางด้านคำปรึกษาทางสุขภาพจิต

ถัดมากันตพร ขจรเสรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวสารและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของทั้งวัยรุ่นและเยาวชน จากสถิติกรมสุขภาพจิต พบว่า วัยรุ่นและเยาวชนไทย 1 ใน 3 หรือ 32% ที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ในเรื่องนี้ใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิด บุตรหลานของเราที่กำลังยิ้มมีความสุข แต่เมื่อพอพวกเขาอยู่คนเดียวอาจจะมีความรู้สึกแย่อยู่ รู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีใครสามารถพูดคุยได้ก็ได้ ถึงแม้เด็กจะยังไม่มีงานที่ต้องรับผิดชอบ มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกตามวัย แต่เด็กและเยาวชนก็มีความเครียดไม่แพ้กับวัยผู้ใหญ่เช่นกัน 

ทาง Mindventure ได้ทำการสำรวจเยาวชน 900 คน พบว่า เยาวชนไทยมีการรับมือกับความเครียดด้วยการเล่นเกม ฟังเพลง เล่นมือถือ และการฝืนยิ้ม เพราะไม่มีคนคุยด้วยและไม่มีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง นอกจากนี้ยังพบปัญหาการค้นหาตนเองของวัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องเจอความกดดันจากที่บ้าน รวมถึงการมีโซเชียลมีเดียที่เปรียบเทียบกับผู้อื่นจนมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง โดยทางทีมเราได้จัดทำโครงการผู้นำเยาวชนให้มีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง

และชูไชย นิจไตรรัตน์ กล่าวว่า สุขภาพจิตมีทั้งสุขภาพดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญมาก วิถีชีวิตของคนเราในปัจจุบันมีความเปราะบางในหลากหลายมิติและเต็มไปด้วยความเครียด เราต้องชวนกันออกกำลังใจให้แข็งแรง ในประเด็นเรื่องสุขภาพจิตอาจเป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับคนชนชั้นกลาง ส่วนคนในชุมชนการพูดคุยในเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ประชากร 90% มีความแข็งแรงทางใจได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและยังต้องทำงานในประเด็นนี้กันต่อไป 

โครงการสุขเป็นเกิดขึ้นมาเพื่อให้คนมีความสุข มีความแข็งแรงทั้งกาย ใจ และความคิด จากการทำงานในชุมชน พบว่า จากการบริโภคข่าวสารในปัจจุบันที่เป็นผลพวงปลายทางจากคนที่อยู่ในชุมชนที่เผชิญความเปราะบางในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้าวของราคาแพง อาชีพ ต้นทุนการศึกษา และการไปพัวพันกันเรื่องยาเสพติด สถานการณ์ของคนในชุมชน มีความยากลำบากในวิถีชีวิต มีความเครียดสูง หาทางออกไม่ค่อยได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ส่งต่อความเครียดให้กันและกัน และเมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านก็เจอความเครียดเช่นเดียวกัน ถ้าเจอสะสมทุกวันจะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น การทำงานกับชุมชนต้องหาวิธีการเชื่อมโยงให้คนชุมชนนำไปใช้ได้จริง โดยต้องรู้จักชุมชนที่เข้าไปทำงานก่อน แล้วจึงออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนที่ทำงานด้วย

สามารถชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/NHCO.thai/videos/172429162598746 (งานเสวนานี้จะเริ่มตั้งแต่นาทีที่ 59 เป็นต้นไป)

 

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.(มปป).ยังไม่ทันเริ่มทำงาน แค่ตื่นมาก็เหนื่อยเลย! Gen-Z เหนื่อยล้าทางอารมณ์มากที่สุด ปัญหาคือ ‘หัวหน้า-องค์กรเน้นผลลัพธ์ตัวเลข’ นักวิชาการเสนอ ‘the Right to disconnect’ สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2567 จาก https://www.nationalhealth.or.th/index.php/th/node/4797

วันที่โพสต์

21 ธ.ค. 2023

ประเภทบทความ

ผู้เขียน

แชร์คอนเทนต์นี้