Skip to content

วันที่โพสต์

06 ต.ค. 2024

ประเภทบทความ

กิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก “Better Mind, Better Bangkok 2024”

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 Sati App ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก “Better Mind, Better Bangkok 2024” ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 สามย่านมิตรทาวน์ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจิตและเรียนรู้ที่จะรักและปฐมพยาบาลใจตนเองมากยิ่งขึ้น ในปีนี้มาในธีม “L.O.V.E. - Loving Yourself, Opening Hearts, Valuing Lives, Enhancing Connection” ซึ่งหมายถึง การรักตัวเอง การยอมรับผู้อื่น การมีสุขภาวะที่ดี และการมีสัมพันธ์ที่ดี 

ผศ.ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ในฐานะตัวแทนผู้ร่วมจัดงานได้นำเสนอภารกิจของ TIMS ในการขับเคลื่อนสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ก่อตั้งมาด้วย “ความหวัง” ว่าสังคมไทยจะมีความยั่งยืนทางสุขภาพจิต โดยได้ขับเคลื่อน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 

  • สนับสนุนการสร้างและการจัดการความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต
  • ผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรมและนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตบนองค์ความรู้และชุดคุณค่าที่หลากหลาย 
  • ประสานและเสริมพลังภาคีเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตในสังคมไทย 

คำว่า “ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต” ถึงจะเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้น แต่คือความสามารถในการสร้างเสริมและรักษาสิ่งนี้ไว้ได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ภารกิจของ TIMS ร่วมกับพันธมิตรที่กำลังทำอยู่อย่างขันแข็ง ตามธีม L.O.V.E. 

  • Loving Yourself (The Art of Self-Care) เรากำลังพัฒนาหลักสูตร "การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นที่ครอบคลุม" (Inclusive Psychological First Aid หรือ PFA) เราได้มีการพัฒนาหลักสูตรนี้เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ได้ด้วย เพราะหลักสูตรปัจจุบัน คือ Look Listen Link ซึ่งต้องใช้การมอง ซึ่งคนพิการทางสายตาไม่สามารถทำได้ เราจึงพัฒนาหลักสูตรนี้โดยใช้หลักการ 4S ได้แก่ Sense, Summarize, Support และ Self-Care เพื่อให้คนพิการสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ 
  • Opening Hearts (Embracing Social Inclusion) ต่อยอดจากหลักสูตร PFA เรากำลังพัฒนา "นักปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นที่เป็นคนพิการ" คนพิการเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการฟัง แต่มักถูกหลงลืม เราต้องการสร้างอาชีพใหม่ผ่านกลไกการจ้างงานเดิม และเสริมพลังคนพิการโดยแสดงให้เห็นว่าพวกสามารถเป็นคนดูแลสุขภาพจิตได้ 
  • Valuing Lives (Understand Well-being) เราได้ทำแบบสำรวจประเด็นสุขภาวะทางจิตต่าง ๆ  เพื่อขยายพรมแดนความเข้าใจเรื่องสุขภาวะทางจิต (Mental Well-being) 
  • Enhancing Connection (Fostering Community Support) เรากำลังพัฒนา "ม้านั่งมีหู" โดยเอาบทเรียนจากต่างประเทศที่ทำสำเร็จแล้วมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย เพื่อสร้างกลไกทางสังคมในการสนับสนุนสุขภาพจิตของคนไทย 

นอกจากนี้ยังมีงานเสวนาภายใต้ธีม L.O.V.E. โดยได้มีเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บุคคลที่ทำงานด้านสุขภาพจิต รวมถึงดาราและนักแสดง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนใน 4 หัวข้อ ดังนี้

  • การรักตัวเอง (L - Loving Yourself: The Art of Self-Care) พูดคุยกันในเรื่องการรักตัวเองที่จะช่วยสร้างสุขภาพกายและใจให้ดีไปพร้อมกันได้ โดยมีวิทยากร ได้แก่ นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียน ผู้จัดรายการ Have a nice day และเจ้าของเพจ Roundfinger, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และ Soulsmith นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว และผู้จัดรายการ R U OK podcast, ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) และยิปโซ อริย์กันตา มหพฤกษ์พงศ์ นักแสด
  • ความรักต่อเพื่อนร่วมโลก (O - Opening Hearts : Embracing Social Inclusion) พูดคุยกันในเรื่องความสำคัญในการอยู่ร่วมกันและความหลากหลายที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคีในสังคมและช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับทุกคนได้ โดยมีวิทยากร ได้แก่ กันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักเขียน, นักจิตวิทยาการปรึกษา, ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต MasterPeace, ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ นักร้อง/ศิลปินสังกัด Warner Music Thailand และสโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักจิตวิทยาและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง
  • ความรักในการที่จะมีสุขภาวะชีวิตที่ดี (V - Valuing Lives : Understand Well-Being) พูดคุยกันถึงแนวคิดและบทบาทสำคัญของสุขภาวะทางจิตใจที่มีผลต่อสุขภาพองค์รวม และทำความรู้จักกับวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี โดยมีวิทยากร ได้แก่มะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัด และเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang, ไมกี้ ปณิธาน บุตรแก้ว นักแสดงและตัวแทนจาก Maybelline Brave Together,   พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และจารุปภา วะสี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา
  • ความรักที่จะได้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ดี ๆ ในสังคม (E - Enhancing Connection : Fostering Community Support) พูดคุยทำความเข้าใจความเหงาในสังคมและผลกระทบต่อสุขภาพจิต ร่วมค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและการสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงา โดยมีวิทยากร ได้แก่ บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล - Transmedia Journalist, The Active ThaiPBS, เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ - ศิลปิน, ผู้ก่อตั้ง จุดพักใจ, นักจิตบำบัด, นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ - นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกัน, ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งสติแอป

ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ จากภาคีเครือข่ายที่ช่วยในการปฐมพยาบาลใจตนเองและรักตัวเองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Healing Wall เขียนขอบคุณตัวเอง แปะพลาสเตอร์บนกำแพงรักษาใจ, Maybelline Brave Talk หมุนวงล้ออารมณ์เพื่อสำรวจความรู้สึกของตนเอง จากเมย์เบลลีนนิวยอร์ก, Heart to Heart Bench ม้านั่งมีหู จาก Sati App, รายงานการสถิติสุขภาพกายและใจของคนกรุงเทพมหานคร, กาแฟโดยผู้พิการทางสายตา จาก Dots Coffee และมินิคอนเสิร์ตจากไมกี้ ปณิธาน บุตรแก้ว

ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมกันในครั้งนี้ เพราะงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเป็นงานของพวกเราทุกคน อยากชวนทุกคนมาร่วมสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิตไปด้วยกัน 

สามารถชมไลฟ์สดกิจกรรมย้อนหลังได้ที่ : 

ช่วงที่ 1 https://www.facebook.com/share/v/Kb3M6aEdVS6W16VD/

ช่วงที่ 2 https://www.facebook.com/share/v/JMNtVvJy3UX93Edf/

อ่าน Visual Note สรุปเนื้อหางานเสวนาได้ที่ : https://shorturl.at/Dh9eo

 

วันที่โพสต์

06 ต.ค. 2024

ประเภทบทความ

ผู้เขียน

แชร์คอนเทนต์นี้