Skip to content

วันที่โพสต์

12 ก.พ. 2024

ประเภทบทความ

พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการหลักสูตรต่อเนื่องบ่มเพาะนวัตกรรมสร้างเสริมความยั่งยืนทางสุขภาพจิต

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ร่วมกับสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการพัฒนาหลักสูตรและการดำเนินการบ่มเพาะเร่งรัดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต โดยใช้ชื่อว่า Mental Health Innovative Development หรือ MIND ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยนรินทร ชฎาภัทรวรโชติ นักวิชาการด้านสุขภาพจิตจาก TIMS รับบทเป็นพิธีกรในงานนี้ด้วย

หน่วยงานที่ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพจิต การพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาผู้ให้คำปรึกษา ดังนี้

  • กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ภายใต้คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • KX Build มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สถาบันโค้ชไทย

หลักสูตรต่อเนื่องบ่มเพาะนวัตกรรมสร้างเสริมความยั่งยืนทางสุขภาพจิต มีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้การพัฒนาเชิงนวัตกรรมสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบผ่าน 4 หลักสูตร ดังนี้

  • หลักสูตรกระบวนกรนวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Navigator) เป็นหลักสูตรพัฒนาศักยภาพกระบวนกร หรือที่เราอาจจะรู้จักในชื่อ 'โค้ช’ ที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการออกแบบนวัตกรรม และอํานวยความสะดวกให้แก่นวัตกร (Innovator)  
  • หลักสูตรพื้นฐานนวัตกรสุขภาพจิต (Into the MIND) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนหลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 44 คน มีเนื้อหาการอบรม ได้แก่
    • ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพจิต
    • การออกแบบและรังสรรค์การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้และเข้าใจงานของตนเอง การหาจุดร่วม เพื่อพัฒนาและดึงศักยภาพ รวมถึงการหาความร่วมมือ
    • เส้นทางการสร้างนวัตกรรม เป็นการทำความรู้จักกับความหมายของนวัตกรรม การเผยแพร่นวัตกรรม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ และเส้นทางสู่ความสำเร็จในการเผยแพร่นวัตกรรม

หลังจากอบรมพัฒนาศักยภาพภายใต้กิจกรรมพื้นฐานนวัตกรสุขภาพจิต (In to the MIND)นวัตกรได้ดำเนินการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาไอเดียและนวัตกรรมสุขภาพจิต จำนวน 15 กลุ่ม

  • หลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (MIND to the MOONs) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 มีนาคม - 24 เมษายน 2567 มีผู้เข้าร่วมอบรม 44 คน หลักสูตรนี้ต่อยอดจาก Into the MIND เป็นการเรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเครื่องมือที่ได้เรียนมา เช่น การออกแบบบริการ (Service Design) เพื่อสร้างต้นแบบ (Prototype) นวัตกรรมทางด้านสุขภาพจิต และมีการนำเสนอนวัตกรรมสุขภาพจิต (Pitching) โดยจะมี 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะเข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรการอบรมครั้งต่อไป คือ ระหว่าวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 2 สิงหาคม 2567 
  • หลักสูตรที่ปรึกษานวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Supervisor) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึง 2 สิงหาคม 2567 เพื่อเติมเต็มความสามารถการเป็นที่ปรึกษาและดูแล (Mentor) กลุ่มบุคคลที่ต้องการคำปรึกษาด้านการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ รวมทั้งการวางกลยุทธ์เชิงการตลาดนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพจิต โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 8 คน

 รูปแบบการอบรม เป็นการให้คำปรึกษาแก่นวัตกรเพื่อดำเนินการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมสุขภาพจิต และการอบรมพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติมความรู้และแนวคิดให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยมีเนื้อหาการอบรม ดังนี้

    • นวัตกรรมสุขภาพจิตกับการตลาดและกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงนวัตกรรม
    • Workshop การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Empathy Role Play)
    • Landscape นวัตกรรม

 

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกประสบการณ์การเป็นนวัตกรทางด้านสุขภาพจิตอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งในรูปแบบ Workshop และ Job Training รวมถึงได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านสุขภาพจิตแล้ว เราหวังว่าจะเริ่มมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมสุขภาพจิต (Innovator Community) อีกทั้งยังนำความรู้และนวัตกรรมจากหลักสูตรไปต่อยอดและขยายผลต่อในหน่วยงานและพื้นที่ของตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิตต่อไป

อ้างอิง

TIMS. (2024). ชวนอ่าน “TIMS 2023-2024 Report : Towards Mental Health Sustainability in Thailand”. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2567 จาก https://www.tims.psy.chula.ac.th/article/tims-2023-2024-report/

วันที่โพสต์

12 ก.พ. 2024

ประเภทบทความ

ผู้เขียน

แชร์คอนเทนต์นี้