Skip to content

วันที่โพสต์

05 Mar 2024

ประเภทบทความ

HACK ใจ ก่อนจม: แฮกกาธอนเพื่อสุขภาพจิตคนไทย

สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) และภาคีเครือข่ายได้จัดงานแฮกกาธอนสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2567​ ณ Convention Hall ชั้น 2 อาคาร D Thai PBS ด้วยความร่วมมื่อของตัวแทน 8 องค์กรภาครัฐ-เอกชนที่เราขนานนามว่า ‘Mental Health Driving Agent’ และภาคประชาชน เช่น Influencer, Content Creator, จิตแพทย์, นักจิตวิทยา, และนิสิตคณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วม Hack โจทย์สุขภาพจิต โดย TIMS เชื่อว่าการมีส่วนร่วมขององค์กรที่ไม่ใช่ภาคสุขภาพ (Non-health sector) นั้นจะช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตพัฒนาไปต่อได้อย่างยั่งยืน เราจึงให้อิสระแก่องค์กรในการเลือกประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อให้เกี่ยวข้องกับงานหรือพันธกิจของแต่ละองค์กร

ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาแนวคิด มุมมอง ตลอดระยะเวลาสองวัน โดยมี คุณทิฟฟาณี เชน จาก Thailand Policy Lab และ คุณณิชกานต์ ธรมรัช จาก UNDP Thailand เป็นผู้ดำเนินกระบวนการที่ช่วยชี้แนะ ร่วมถึงอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเมนเทอร์ที่เข้ามาให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วม และในที่สุดทุกทีมก็มีโอกาสเสนอผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในวัน ‘Pitching Day’ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ดร. กรีชผกา บุญเฟือง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), พญ. ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการ กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต, และคุณสุวิตา จรัญวงศ์ CEO และผู้ร่วม ก่อตั้งบริษัท Tellscore รวมถึงกลุ่มเยาวชน INDY CAMP

แต่ละทีมได้เสนอผลงานดังต่อไปนี้

1. นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

โพรเจกต์แรกตั้งชื่อว่า ใจฟู Community มีคอนเซ็ปเป็นการ “เปลี่ยนป้าข้างบ้านเป็นป้าข้างใจ เปลี่ยนสังคมรอบกายให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” หรือการสนับสนุนให้คนในชุมชนมาช่วยดูแลจิตใจกันและกัน เพื่อลดภาระของบุคลากรด้านสุขภาพใจที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในตอนนี้ โดยมีสามขั้นตอนตาม Mode 1. Groom โดยนำผู้เชี่ยวชาญมาแบ่งปันความรู้เรื่องสุขภาวะที่ดี 2. Grant เป็นการสนับสนุนทุนและทรัพยากรในการจัดทำโครงการ และ 3. Growth คือผลลัพท์ที่ทำให้เกิด ecosystem ทางสุขภาพจิตในสังคม

2. สุขภาพใจของวัยทำงานแห่งอนาคต โดย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

โพรเจ็กต์“สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต (Psychological Standards for E-Working)” เสนอให้มีการเปลี่ยนบรรทัดฐานในการทำงานให้มีความสุขมากขึ้น เช่นการสร้าง Trust Mark หรือ ตราสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่น ที่แสดงให้เห็นว่าคนงานในบริษัทนี้ทำแล้วมีความสุข โดยบริษัทที่ได้รับนี้ต้องผาานการคัดกรองมาอย่างรอบคอบจากกระบวนการ sandbox กับภาคีเครื่อข่าย ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้บริษัทเห็นคุณค่าสุขภาพจิตของผู้คนในบริษัทมากขึ้นเพราะตรานี้สามารถช่วยดึงดูดผู้หางานให้ไปสนใจงานที่ให้ความสุขมากกว่า

3. นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด โดย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (DJOP)

โพรเจกต์นี้มีโจทย์ให้หาวิธีการดูแลช่วยเหลือเด็กในศูนย์ฝึกที่มีพฤติกรรมรุนแรงและก่อเหตุซ้ำ โดยเสนอให้ปรับเปลี่ยนศูนย์ฝึกให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น การรู้จักการรับฟังกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่กันเองก่อน เข้าใจความยากลำบากของกันและกันมากขึ้น  การจัดพื้นที่มาตรการสูงสุดเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเจ้าหน้าที่ และการสร้างโปรแกรมรองรับเด็กที่มีปัญหาซับซ้อนโดยเฉพาะ

4. เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย โดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)

โพรเจกต์นี้มีโจทย์เรื่องสุขภาพจิตของตำรวจซึ่งมีค่านิยมที่ทำให้แสดงความอ่อนแอได้ยากจนไม่สามารถระบายความเครียดและได้รับการดูแล ทีมนี้จึงเสนอให้สร้าง "คลับ" เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ตำรวจ โดยใช้กิจกรรมง่ายๆ เช่น กีฬา การร้องเพลง และนำความรู้เรื่องจิตวิทยาสอดแทรกไปด้วย ทีมนี้เสนอว่าควรเริ่มต้นที่“กรมตำรวจสอบสวนกลาง” เป็นที่แรก ก่อนจะขยายผลไปหน่วยงานอื่นเรื่อยๆ

5. พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย โดย AIS

โจทย์ของโพรเจกต์นี้คือการที่คนมากมายโดนหลอกให้เสียเงินจากการโทรหรือการใช้อินเตอร์เน็ต ทีมนี้จึงเสนอวิธีแก้ด้วยการ 1. สร้าง “Alert” แจ้งเตือนเมื่อมีเบอร์น่าสงสัยติดต่อมา และยังสร้างเป็น platform สำหรับให้ความรู้ เตือนภัย เยียวยารักษาจิตใจผู้เสียหาย และเป็นช่องทางการติดต่อตำรวจไซเบอร์ด้วยด้วย และ 2. สร้างหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษา เรียกว่า หลักสูตร “อุ่นใจ Cyber” เพื่อให้ความรู้ประชนชนทั่วไป

6. เมืองแห่งความสุขกายสบายใจเพื่อประชา โดย ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab by MQDC)

ทีมนี้มีโจทย์ว่าทำยังไงคนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางจึงจะสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ส่งเสริมสุขภาพจิตได้ทั่วถึง ทีมเสนอการสร้าง smiling cities โดยการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1. มีระบบสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน 2. มี Universal Design 3. มีพื้นที่ใกล้ชิดธรรมชาติ 4. มีพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรม 

7. ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย โดย กรุงเทพประกันภัย (Bangkok Insurance)

ทีมนี้ชี้ให้เห็นว่าการดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตในธุรกิจประกันนั้นมีข้อจำกัดคือขาดข้อมูล เช่นปัจจัยด้านจำนวนคน ความเสี่ยง และความถี่ซึ่งจำเป็นต่อการคำนวณค่าเบี้ยประกันและระดับการคุ้มครอง จึงเสนอว่าบริษัทประกินควรสร้างฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูบ ความต้องการ และสร้างข้อตกลง โดยที่ทุกอย่างควรขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนด้วยเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถมาร่วมกันสร้างและใช้ฐานข้อมูลได้

8. องค์กรส่งเสริมความสุขและสุขภาวะทางจิต โดย บริษัท Food Passion

โพรเจกต์นี้เกี่ยวกับการบริหารความเครียดของพนักงานในองค์กร ซึ่งทีมนี้ได้แบ่งขั้นตอนมา 3 ระยะคือ 1. ระยะแรก: เก็บข้อมูลด้านระดับความเครียดและปัจจัยต่างๆของพนักงานที่อยู่ในแต่ละสาขา 2. ระยะกลาง: จัดหลักสูตรให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะเรื่อง “การฟัง” ให้กับพนักงานทุกคน และ 3. ระยะยาว: สร้าง ”พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับพนักงานทุกคน

สามารถอ่านถึงนวัตกรรมทั้ง 8 อย่างเพิ่มเติมได้ที่ https://theactive.net/data/hack-mental-innovation/ 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ThaiPBS

 

อ้างอิง

TIMS. (2024). TIMS 2023-2024 Report. https://www.tims.psy.chula.ac.th/en/article/tims-2023-2024-report/ 

NIA ร่วมระดมสมอง ค้นหาไอเดียสร้างสรรค์ #นวัตกรรมฮีลใจ เสริมสร้างระบบบริการ ‘สุขภาพจิต’ คนไทย ผ่านกิจกรรม ‘HACK ใจ.’ (2024, March 4). nia.or.th. Retrieved September 13, 2024, from https://www.nia.or.th/Jai-Fu-Community

ปิดฉาก ‘HACK ใจ’ ค้นพบ 8 นวัตกรรม ดูแล ปกป้อง ‘สุขภาพจิต’ คนไทย. (2024, March 4). The Active. https://theactive.net/news/publichealth-20240302/

เปิด 8 นวัตกรรม HACK ใจ ความหวังใหม่ แก้ปัญหาใจให้สังคม | The ACTIVE. (2024, July 14). The Active. https://theactive.net/data/hack-mental-innovation/ 

 

 

วันที่โพสต์

05 Mar 2024

ประเภทบทความ

ผู้เขียน

แชร์คอนเทนต์นี้