เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ร่วมมือกับ Vulcan Coalition, Sati App และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Focus Group กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรอาสาสมัครผู้ปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aids : PFA) ณ สถาบันราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
สืบเนื่องจากกิจกรรม Focus Group สำหรับอาสาสมัครผู้รับฟังเพื่อส่งเสริมสุขภาพใจในกลุ่มคนพิการ ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากอาสาสมัครผู้รับฟังไปแล้วนั้น ในครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับคนพิการ และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันของประชาชนที่มาให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ 9 ท่าน ดังนี้
- พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ร่วมก่อตั้ง TIMS
- พญ.วรินทร พิพัฒน์เจริญชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
- คุณธิดารัตน์ นงค์ทอง นักให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
- คุณวิชุดา ครุธทอง นักให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
- อ.อุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย
- คุณองอาจ แก่นทอง รองประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย
- คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
- คุณสโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง และนักจิตวิทยาอิสระ
เนื่องจากอาสาสมัครคนพิการเป็นกำลังสำคัญในกลุ่มอาสาสมัครผู้รับฟัง ทางโครงการจึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าใช้งานระบบให้บริการที่สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อาสาสมัครผู้รับฟังสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
เราได้มีการพัฒนาหลักสูตรผู้รับฟังด้วย 4S Model ดังนี้
- Sense สอดส่อง รับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- Support ให้การสนับสนุน ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง หรือให้ยาใจด้วยกิจกรรมทางสังคม
- Summarize การขมวดข้อมูลเพื่อสรุปประเด็น นำพาไปสู่การจบบทสนทนา
- Self-care การดูแลใจตัวเอง ให้ผู้รับฟังสามารถปล่อยวางและใช้ชีวิตตามปกติต่อไปได้
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญได้เน้นย้ำเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ คือ นอกจากความรู้เชิงทฤษฎีและทักษะการรับฟังด้วยใจแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเตรียมพร้อมทางจิตใจของอาสาสมัคร ทั้งในเรื่องทัศนคติที่มีต่อตนเอง การรับรู้ขอบเขตในการให้ความช่วยเหลือของตัวเอง แนวทางการรับฟังในสถานการณ์สี่ยง การมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ รวมถึงการจำลองสถานการณ์บทบาทการเป็นผู้รับฟัง และอื่น ๆ เพื่อให้อาสาสมัครสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
จากการพูดคุยกันครั้งนี้ TIMS ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เป็นในการนำไปพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร PFA ให้เข้มข้นและมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น หวังว่าหลักสูตร PFA จะช่วยสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตแล้ว เพิ่มจำนวนนักปฐมพยาบาลใจ อีกทั้งยังเสริมพลังและสร้างทางเลือกอาชีพใหม่ให้กับกลุ่มคนพิการ จนนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิตได้