สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ได้ทำการสำรวจสุขภาวะทางจิตในสังคมไทย โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 457 คน ในปี 2567 เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมด้านสุขภาพจิตของประชากร ผลการสำรวจพบประเด็นสำคัญใน 5 ด้าน ดังนี้:
1. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
- สภาพทั่วไป: กลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยประสบกับอาการของภาวะซึมเศร้า เช่น ความเหงา ความกลัว และความหมดหวังในระดับปานกลาง (1-2 วันต่อสัปดาห์)
- ปัจจัยรายได้: ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงขึ้น มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดน้อยลง
- กลุ่มเสี่ยงสูง: กลุ่มอายุ 20-29 ปี ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท และรายจ่ายเกิน 50% ของรายได้ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อภาวะซึมเศร้า
2. ความพึงพอใจในชีวิต (Satisfaction in Life)
- ภาพรวม: โดยเฉลี่ยกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในชีวิตในระดับปานกลางถึงสูง
- ความพึงพอใจสูงสุด: ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต และการทำงานหรือการเรียน
- ความพึงพอใจต่ำสุด: สุขภาพกาย คุณภาพชีวิตประจำวัน และสุขภาพจิต
- สถานะชีวิตคู่:
- กลุ่มที่พึงพอใจในชีวิตมากที่สุด: ผู้ที่มีสถานะ “โสด” และ “แต่งงานแล้ว อยู่ด้วยกัน”
- กลุ่มที่พึงพอใจน้อยที่สุด: ผู้ที่มีสถานะ “หย่า/หม้าย”
- แม้ว่าสถานะชีวิตคู่จะแตกต่างกัน แต่ความพึงพอใจต่ำในด้านสุขภาพกาย คุณภาพชีวิตประจำวัน และสุขภาพจิตพบในทุกกลุ่ม
3. สุขภาวะทางจิต (Psychological Well-being)
- ระดับสุขภาวะทางจิต: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสุขภาวะทางจิตในระดับปานกลาง
- ปัจจัยรายได้:
- ผู้มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 30,000 บาท มีสุขภาวะทางจิตดี โดยได้คะแนนสูงในด้าน “จุดมุ่งหมายในชีวิต”
- ผู้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 30,000 บาท มีสุขภาวะทางจิตระดับปานกลาง โดยได้คะแนนต่ำสุดในด้าน “การมีความสัมพันธ์ที่ดี”
- อาชีพ: ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชนมีสุขภาวะทางจิตดีกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
4. สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (SES) และกรอบความคิดแบบตายตัวเกี่ยวกับ SES (Fixed Mindset of SES)
- สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม: 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนเองอยู่ในระดับกลาง (ระดับ 3 จาก 5)
- ทัศนคติเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบตายตัว SES:
- ในภาพรวม กลุ่มตัวอย่างรู้สึกเฉยๆ หรือมีความคิดที่เป็นกลาง ต่อความเชื่อที่ว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก (คะแนนเฉลี่ย Fixed mindset of SES 4.5 คะแนน)
- กลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ย Fixed mindset of SES สูงที่สุด คือ ผู้ที่ประเมินระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองในระดับสูงสุด (ระดับ 5) และคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ผู้ที่ประเมินระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองในระดับระดับกลาง (ระดับ 3)
- กลุ่มที่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มเชื่อว่า SES สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ
- กลุ่มที่มีรายได้ไม่มั่นคง เช่น พนักงานอิสระ มีแนวโน้มที่จะมี Fixed Mindset of SES สูงกว่า
5. ความสามารถในการเข้าถึงการสนับสนุน (Support)
- ระดับการเข้าถึง: กลุ่มตัวอย่างสามารถเข้าถึงการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนได้ในระดับค่อนข้างง่ายถึงปานกลาง
- ความยากลำบาก:
- การสนับสนุนที่เข้าถึงได้ยากที่สุด ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านอารมณ์ และด้านการใช้ชีวิตประจำวัน
- กลุ่มที่มีระดับการศึกษาสูง จะเข้าถึงการสนับสนุนได้ง่ายกว่า
- คนกรุงเทพฯ (17% ของกลุ่มตัวอย่าง) มีแนวโน้มเข้าถึงการสนับสนุนได้ยากกว่าคนในจังหวัดอื่น โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี
ขอบคุณ Informata สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลและภาพประกอบ Infographic
ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมสุขภาวะทางจิตในสังคมไทย ข้อมูลดังกล่าวอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและพัฒนาสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้